อาจจะมีหลายครั้งที่คุณนึกอยากจะเปลี่ยนงาน ไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม แต่ว่าการหางานที่ดีกว่าเดิม งานที่คุณทำแล้วมีความสุข หรือ งานที่เหมาะกับคุณจริงๆแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป หากแต่ต้องอาศัยการเตรียมตัว เตรียมพร้อมกันสักเล็กน้อยก่อนจะเริ่มหางานใหม่ที่คุณต้องการ
ถ้าหากว่าคุณกำลังต้องการเปลี่ยนงาน สิ่งแรกที่คุณควรทำคือการแจกแจงดูว่าคุณมีปัญหาอะไรบ้างในการทำงานในปัจจุบันที่ทำให้คุรรู้สึกอยากเปลี่ยนงาน และ ควรดูให้แน่ใจว่า ปัญหาเหล่านั้นคุณไม่สามารถแก้ไขมันได้จริงๆ
ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกจากงานปัจจุบันที่ทำอยู่ ควรคุยกับเจ้านายดูก่อนเพราะว่า บริษัทส่วนมาก ไม่ต้องการที่จะหาพนักงานใหม่มาแทนคนเก่า เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการสอนงานให้กับพนักงานใหม่ และ หากคุณเป็นคนที่มีความสามารถด้วยแล้ว บริษัทยิ่งไม่อยากเสียคุณไปอย่างแน่นอน ซึ่งก็หมายความว่า เจ้านายของคุณ อาจจะสามารถช่วยหาทางแก้ไขปัญหาที่คุณพบเจออยู่ก็เป็นได้หากเขารู้ถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของคุณ
อย่างไรก็ตาม หากคุยและปรึกษาแล้วไม่มีหาทางไหนที่ทำให้คุณรู้สึกดี หรือ มีความสุขกับการทำงานที่เดิมแล้ว คงถึงเวลาที่คุณต้องหางานใหม่ ซึ่งเรามีกลเม็ดเล็กๆน้อยๆ 8 ข้อ ที่จะสสามารถช่วยให้การเปลี่ยนงานหรือหางานใหม่ของคุณราบรื่นมากขึ้นด้วย
ข้อที่ 1. รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร
เหมือนกับการเลือกสายที่ต้องเรียนตอนม.ปลายนั่นแหละครับ เราต้องรู้ก่อนว่า เรามีความสามารถ มีทักษะอะไร ประสบการณ์ที่ผ่านๆมา คุณชอบสิ่งใด เพราะว่ามันจะทำให้คุณรู้ว่า งานแบบไหนเหมาะสมกับคุณมากที่สุด เมื่อมองเห็นจุดนี้แล้ว คุณก็จะรู้ว่า งานแบบไหนที่ได้ทำแล้วจะมีความสุขที่สุด
ข้อที่ 2. ทำใจก่อนเลยว่าที่ทำงานที่ใหม่ (อาจจะ) ได้เงินเดือนลดลง
แน่นอนครับ การรับคนเข้าทำงานต้องมีช่วงที่เรียกว่า ทดลองงานอยู่แล้ว และบางครั้ง การได้ทำงานที่ใหม่ ที่ให้เงินเดือนมากกว่าเดิมนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะทำให้คุณมีความสุขในการทำงานได้จริงๆ เพราะหากว่าไม่ได้เป้นงานที่คุณรัก คุณไม่ได้ชอบที่จะทำมัน อาจจะทำให้งานออกมาไม่ดีด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้โอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานลดลงด้วย แต่หากงานที่คุณได้ทำนั้น ช่วงแรกอาจจะได้เงินเดือนน้อยบ้าง แต่เป็นงานที่คุณชอบ และคุณรักที่จะทำมัน ผลงานก็จะออกมาดีกว่างานที่คุณไม่ได้ชอบอยู่แล้ว ซึ่งก็จะส่งผลให้คุณได้รับโอกาสในการได้เงินเดือนเพิ่ม และมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานมากขึ้นด้วย
ข้อที่ 3. หาข้อมูลของงาน หรือ อาชีพที่คุณสนใจ
หลังจากรู้ว่า ตัวคุณเองต้องการอะไรแล้ว ต่อมาเราก็ต้องมาดูกันว่า งานหรืออาชีพที่คุณกำลังสนใจอยู่นั้น มีความรับผิดชอบ หรือ หน้าที่ตรงกับที่คุรต้องการหรือไม่ สมัยนี้ก็ง่ายๆครับ มีแหล่งข้อมูลให้ค้นหามามายทั้ง นิตยสาร, หนังสือพิมพ์, Internet ที่จะช่วยให้คุณรู้ว่า งานที่กำลังหาอยู่ เป็นงานที่ตรงกับที่คุณต้องการหรือไม่
ข้อที่ 4. การสร้างสายสัมพันธ์ในสายงาน
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่ดีในการทำให้คุณได้พบปะ พบเจอกับคนที่ทำงานในแวดวงเดียวกัน ทำให้สามารถแชร์ความรู้หรือประสบการณ์ต่างๆกันได้ ซึ่งถ้าหากคุรต้องการหางานในสายนั้นๆแล้ว ทำให้คุณมีความได้เปรียบคนอื่นๆอีกด้วย
ข้อที่ 5. ทำความรู้จักกับบริษัทที่ต้องการไปสมัคร
ถึงแม้ว่างานที่คุณต้องการจะยังไม่เปิดรับสมัคร แต่การหาข้อมูลไว้ก่อนว่าบริษัทนั้น ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอะไร สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่คุณสนใจว่ามีความรับผิดชอบอะไรบ้าง ซึ่งถ้าเรารู้ว่าบริษัทที่เราต้องการสมัครดำเนินธุรกิจรูปแบบไหน ทำอะไร จะทำให้คุณมีภาษีดีกว่าผู้สมัครรายอื่นๆที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทที่ตัวเองต้องการไปสมัครเลย
ข้อที่ 6. ขอเข้าทดลองงาน หรือ ฝึกงานในตำแหน่งชั่วคราว
หาคุณค้นพบว่า ตัวเองต้องการทำอาชีพอะไรในอนาคตได้ขณะที่เรียนมหาวิทยาลัยอยู่ คุรสามารถขอเข้าฝึกงานในบริษัทที่ต้องการเข้าไปทำงานในอนาคตได้อีกด้วย ทำให้คุณรู้ว่าบรรยากาศในที่ทำงานในบริษัทที่คุณต้องการไปสมัครเป็นอย่างไรอีกด้วย
ข้อที่ 7. แก้ไขจุดอ่อน สร้างเสริมส่วนที่ขาดไป
ในเมื่อเรารู้จุดแข็งของเราแล้ว ต่อมาคือต้องดูว่าจุดอ่อนของเราคืออะไร เช่น ไม่ถนัดในด้านภาษา เราก็สามารถใช้เวลาว่างที่มี ไปฝึกภาษาที่เราไม่ถนัด เผื่อหากบริษัทมีนโยบายส่งพนักงานไปต่างประเทศ คุณก็อาจเป็น 1 ในตัวเลือกของบริษัท อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสได้ความก้าวหน้าในอาชีพอีกด้วย
ข้อที่ 8. แสดงจุดเด่นของเราให้ตรงกับที่บริษัทต้องการ
ในเมื่อคุณรู้ว่าคุณมีทักษะไหนที่ตรงกับสายงาน หรือ อาชีพที่ตรงกับบริษัทที่คุณต้องการประกาศรับอยู่ ก็ควรเน้นตรงจุดนั้นในจดหมายสมัครงาน หรือ ในประวัติหากส่งใบสมัครผ่านเว็บไซต์
หางาน ซึ่งจะทำให้คุณมีโอกาสได้งานมากขึ้นด้วย
สุดท้าย สำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางาน อย่าตัดสินใจเลือกงานตามคนอื่นที่เราไม่ชอบ ยังมีงานอีกมากมายรอคุณอยู่ข้างนอก เพียงแค่คุณเชื่อว่าคุณสามารถทำได้คุณก็สามารถแก้ไขจุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคต่องานที่คุณชอบได้เช่นกัน